กระจกอินซูเลต

ลักษณะผลิตภัณฑ์

กระจกอินซูเลต(Insulated Glass) เป็นกระจกที่มีช่องว่างระหว่างกระจก ซึ่งอาจมีช่องว่างหนึ่งช่องหรือสองช่อง โดยช่องว่างระหว่างกระจกเกิดจากการนำวัสดุมาคั่นกลางระหว่างกระจกตามขอบกระจกโดยรอบ บริเวณกลางกระจกสามารถมองทะลุได้เหมือนกระจกทั่วไป วัตถุประสงค์หลักของกระจกอินซูเลตคือ การลดการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในและภายนอกอาคาร

วัสดุที่ใช้คั่นกลางที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือ อลูมิเนียม โดยอลูมิเนียมจะถูกขึ้นรูปให้มีช่องว่างตรงกลาง และด้านที่หันเข้าช่องว่างระหว่างกระจกจะมีรูพรุนเพื่อให้อากาศถ่ายเทระหว่างช่องว่างตรงกลางอลูมิเนียมและช่องว่างระหว่างกระจกได้ ช่องว่างของอลูมิเนียมมีไว้เพื่อใส่สารดูดความชื้น เมื่อปิดขอบโดยรอบของกระจกอินซูเลต อากาศจะไม่สามารถผ่านเข้าออกระหว่างช่องว่างของกระจกและอากาศภายนอกได้ สารดูดความชื้นจะดูดความชื้นออกจากอากาศที่อยู่ระหว่างกระจกทำให้อากาศแห้งสนิท อากาศแห้งเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีชนิดหนึ่ง ทำให้กระจกอินซูเลตสามารถกันการถ่ายเทความร้อนได้

การใช้อลูมิเนียมเป็นวัสดุคั่นกลางมีจุดอ่อนคือ อลูมิเนียมนำความร้อนได้ดี ความร้อนจึงสามารถถ่ายเทผ่านอลูมิเนียมได้ จึงมีการนำวัสดุชนิดอื่นที่นำความร้อนได้น้อยกว่ามาใช้แทนแต่ยังไม่เป็นที่นิยมมาก เพราะวัสดุที่ใช้ต้องแข็งแรงพอที่จะรับการบิดตัวของกระจกและรับแรงอัดที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตได้ และราคาของวัสดุต้องไม่แพงกว่าอลูมิเนียมมากเกินไป พลาสติคเป็นตัวอย่างหนึ่งของวัสดุทดแทนกล่าว

กระจกแผ่นเรียบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกระจกโฟลท กระจกนิรภัยเทมเปอร์ กระจกฮีทสเตรงค์เท่น กระจกลามิเนต กระจกสะท้อนแสง กระจก Low-E กระจกทำความสะอาดตัวเอง สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบของกระจกอินซูเลตได้ โดยกระจกนั้นต้องไม่มีการโก่งงอเกิน 2 มิลลิเมตร

อากาศแห้งในช่องว่างระหว่างกระจก สามารถทดแทนด้วยก๊าซเฉี่อยเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการกันความร้อน เพราะก๊าซเฉี่อยมีความสามารถในการนำความร้อนน้อยกว่าอากาศแห้ง ก๊าซเฉี่อยที่นิยมใช้คือ ก๊าซอาร์กอน

การเลือกใช้กระจกชนิดต่างๆ และ ชนิดของก๊าซ จะมีผลต่อคุณสมบัติในการกันความร้อน การกันเสียง การทนต่อแรงกระแทกและแรงลม แต่คุณสมบัติที่ดีขึ้นอาจมาพร้อมกับราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการปรึกษากันระหว่างเจ้าของงาน สถาปนิก วิศวกร ผู้ติดตั้ง และโรงงานผู้ผลิต ถึงความต้องการของเจ้าของงานและสถาปนิก ความเป็นไปได้ของการผลิตและการติดตั้ง รวมทั้งความเหมาะสมคุ้มค่าของราคากับคุณสมบัติที่ได้รับ

ลักษณะเด่น

  1. ลดการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในอาคารและภายนอกอาคาร ทำให้ประหยัดพลังงานเพราะเครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง
  2. เนื่องจากมีการใช้กระจก 2 แผ่นแยกจากกัน ความร้อนที่ดูดซับโดยกระจกแผ่นนอกจะต้องแผ่รังสีผ่านอากาศแห้งที่เป็นฉนวนกันความร้อน กระจกแผ่นในจึงจะรับความร้อนน้อย ทำให้คนที่นั่งใกล้กระจกยังรู้สึกสบาย ไม่รู้สึกถึงความร้อนจากการแผ่รังสีของกระจก
  3. ลดเสียงจากภายนอกอาคาร
  4. สามารถเพิ่มคุณสมบัติของกระจกให้ทนต่อการแตกด้วยความร้อน ด้วยแรงลม และด้วยแรงกระแทกได้ โดยการเลือกใช้กระจกที่นำมาเป็นองค์ประกอบของกระจกอินซูเลต

ลักษณะด้อย

  1. กระจกอินซูเลตมีความหนารวมมากเนื่องจากมีชั้นของอากาศ ทำให้การยกวางลำบาก มีน้ำหนักมาก
  2. เนื่องจากความหนาของกระจกอินซูเลต ร่องที่รับกระจกจำเป็นจะต้องกว้าง อลูมิเนียมที่ใช้ในงานติดตั้งทั่วไปไม่สามารถใช้ได้ ต้องใช้อลูมิเนียมร่องกว้างพิเศษ ซึ่งหาได้ยากในตลาดเมืองไทย และมีราคาแพง
  3. เนื่องจากกระจกอินซูเลต นำกระจกหลายชนิดมาประกอบกัน ทำให้กระจกมีราคาแพง

การนำไปใช้งาน

เมื่อเทียบกับกระจกทุกชนิดที่ใช้ทำผนัง กระจกอินซูเลตสามารถกันการถ่ายเทความร้อนได้ดีที่สุด จึงเหมาะที่จะใช้เป็นผนังกั้นระหว่างภายในอาคาร รวมถึงภายนอกอาคารในบริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์ตรงๆ นอกจากนี้ในอาคารที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลาก็ควรใช้กระจกอินซูเลต เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ โดยสามารถช่วยลดขนาดและจำนวนของเครื่องปรับอากาศได้ ทำให้ประหยัดทั้งค่าเครื่องปรับอากาศและพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้

กระจกอินซูเลตยังสามารถใช้เป็นประตูตู้เย็น ตู้แช่ เพราะสามารถกั้นการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในที่อาจต่ำถึง -18 องศาเซลเซียส กับบรรยากาศภายนอกที่อาจสูงถึง 40-45 องศาเซลเซียส การใช้กับตู้แช่ยังทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าก่อนเปิดตู้แช่ได้อีกด้วย

ความหนา

ความหนาที่สามารถผลิตได้ คือ บางสุดที่ 3+6+3 (12 มิลลิเมตร) หนาสุดที่ 15+18+15 (48 มิลลิเมตร)

ขนาดเล็กสุด

ขนาดเล็กสุดที่สามารถผลิตได้ คือ 190 X 350 มิลลิเมตร

ขนาดใหญ่สุด

ขนาดใหญ่สุดที่สามารถผลิตได้ คือ 2,700 X 5,000 มิลลิเมตร

* หมายเหตุ: กระจกบางขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ กรุณาสอบถามขนาดก่อนสั่งผลิต

ข้อควรระวังในการใช้งาน

  • กระจกอินซูเลตผลิตตามขนาดที่ใช้ จึงต้องการความแม่นยำในการวัดพื้นที่ เพราะกระจกไม่สามารถตัดแต่งได้
  • กระจกอินซูเลตที่ติดตั้งบนอาคารสูง จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบด้านหนึ่งเป็นกระจกลามิเนต เพราะกฎหมายกำหนดให้กระจกที่ติดตั้งภายนอกของอาคารสูงต้องเป็นกระจกลามิเนต เพื่อป้องกันกระจกที่แตกร่วงลงมา ซึ่งในการติดตั้งกระจกอินซูเลตจะต้องหันด้านที่เป็นกระจกลามิเนตให้อยู่ด้านนอกอาคาร
  • ในกรณีที่ใช้กระจกพิเศษต่างๆเป็นองค์ประกอบของกระจกอินซูเลต ต้องดูคำแนะนำของผู้ผลิตว่าต้องหันกระจกด้านไหนสู่ภายนอก เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดของกระจกชนิดนั้นๆ

การตรวจสอบว่ากระจกเป็นกระจกอินซูเลต

กระจกอินซูเลตสามารถสังเกตได้ง่าย เพราะอลูมิเนียมที่คั่นระหว่างกระจกทั้งสองแผ่นสามารถมองเห็นได้ง่าย