กระจกลามิเนต

ลักษณะผลิตภัณฑ์

กระจกลามิเนต(Laminated Glass) คือกระจกตั้งแต่สองแผ่นขึ้นไปยึดกันด้วยชั้นฟิล์ม กระจกลามิเนตมีความปลอดภัยสูง เวลาที่กระจกแตก กระจกยังยึดกับกระจกอีกแผ่นที่ไม่แตกด้วยฟิล์มทำให้ไม่ร่วงลงมา แม้กระจกจะแตกทั้งสองแผ่น รอยแตกของทั้งสองแผ่นก็ไม่ตรงกัน โอกาสร่วงหลุดจึงน้อยกว่ากระจกชนิดอื่น
กระจกทุกชนิดสามารถนำมาผลิตเป็นกระจกลามิเนตได้ ไม่ว่ากระจกนั้นจะผลิตด้วยกระบวนการผลิตกระจกเพลท กระบวนการผลิตกระจกชีท หรือกระบวนการผลิตกระจกโฟลท กระจกทุกสี ทุกความหนา หรือแม้จะเป็นกระจกสะท้อนแสง กระจกเงา กระจกเทมเปอร์ กระจกฮีทสเตรงค์เท่น ก็สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระจกลามิเนตได้ การนำกระจกหลายๆชนิดมาเป็นองค์ประกอบของกระจกลามิเนตนั้น ทำให้ได้กระจกที่มีคุณสมบัติพิเศษซึ่งอาจไม่สามารถผลิตได้ในกรณีเป็นกระจกแผ่นเดียว
ฟิล์มที่ใช้ในการผลิตกระจกลามิเนตทั่วๆไป คือ ฟิล์มPVB (Polyvinyl Butyral Film) โดยผู้ผลิตฟิล์มได้ทำการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ฟิล์มPVB ที่มีคุณสมบัติหลากหลาย และมีเฉดสีให้เลือกมากมาย มีทั้งชนิดโปร่งใส โปร่งแสง ทึบแสง เช่น ฟิล์มใส ฟิล์มสีเหลือง ฟิล์มสีฟ้า ฟิล์มสีขาว ฟิล์มสีดำ ฟิล์มฝ้า เป็นต้น โดยฟิล์มเหล่านี้ยังสามารถนำมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดสีใหม่ๆ หรือความทึบในระดับต่างๆกัน แล้วแต่จินตนาการ
ฟิล์มPVB มีคุณสมบัติกันรังสียูวีได้ค่อนข้างสูง โดยทั่วไปจะกันได้มากกว่า 95% ฟิล์มจำนวนมากสามารถกันรังสียูวีได้ถึง 99% และฟิล์มบางชนิดยังสามารถกันรังสียูวีได้ถึง 100% เมื่อนำมาประกอบกับกระจกซึ่งโดยปรกติจะลดรังสียูวีได้บางส่วน ทำให้กระจกลามิเนตธรรมดากันแสงยูวีได้เกือบ 100%
ฟิล์มPVB เป็นโพลีเมอร์ชนิดหนึ่ง จึงทำให้กระจกลามิเนตธรรมดาสามารถลดการส่งผ่านของคลื่นเสียงได้ในระดับหนึ่ง โดยความถี่ในระดับเสียงพูดจะถูกลดลงมากกว่าเสียงความถี่ต่ำจากเครื่องจักร

กระจกลามิเนตจะชะลอการถ่ายเทความร้อนเข้ามาภายใน เพราะฟิล์มPVBจะช่วยดูดซับความร้อนไว้ในเนื้อฟิล์ม แต่เมื่อเนื้อฟิล์มมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก็จะส่งความร้อนเข้ามาในห้องในที่สุด
นอกจากฟิล์มPVB ยังมีฟิล์มEN หรือฟิล์มEVA (Ethylene Vinyl Acetate Film) ฟิล์มชนิดนี้สามารถยึดเกาะกระจกกับวัสดุชนิดอื่นได้ เช่น กระดาษ ผ้า กระดาษสา ฟิล์มพลาสติคชนิดต่างๆ เป็นต้น ฟิล์มชนิดนี้ไม่ดูดความชื้น กระจกลามิเนตที่ผลิตจากฟิล์มชนิดนี้จึงสามารถผลิตได้ในห้องสะอาดแบบธรรมดา ไม่ต้องควบคุมความชื้น
Sentry Glass Plus (SGP) เป็นฟิล์มชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติด้านการยึดเกาะและการรับแรงที่ดีมากๆ ทำให้สามารถลดความหนาของกระจกลามิเนตสำหรับการรับแรงเท่าๆกันได้ Sentry Glass Plus มีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ช้า จึงสามารถใช้ในกรณีต้องการเปลือยขอบกระจก และบริเวณที่มีความชื้นสูง แต่ไม่สามารถใช้ในกรณีที่มีการแช่น้ำได้
การใช้น้ำยาเรซิ่นชนิดพิเศษเป็นวิธีการทำกระจกลามิเนตแบบดั้งเดิมก่อนที่จะมีการใช้ฟิล์มPVB แต่ก็ยังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่ต้องลงทุนเครื่องมือราคาแพง แต่ต้องเสียเวลาในการรอให้เรซิ่นแข็ง จึงผลิตได้ช้า และควบคุมความหนาได้ยาก

ลักษณะเด่น

  1. กระจกลามิเนตมีฟิล์มยึดกระจกเข้าด้วยกัน เมื่อแตกจะไม่ร่วงลงมา จึงมีความปลอดภัยสูง
  2. กระจกลามิเนตชะลอการบุกรุกได้ เพราะกระจกที่ยึดเกาะกันอยู่ ไม่แตกในแนวเดียวกัน ผู้บุกรุกต้องใช้เวลาในการกระแทกให้กระจกร่วงออกไป
  3. กระจกลามิเนตกันรังสียูวีได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์
  4. กระจกลามิเนตลดเสียงรบกวนมากกว่ากระจกแผ่นเดียวที่ความหนาเดียวกัน
  5. กระจกลามิเนตชะลอการส่งผ่านความร้อนเข้ามาในห้อง
  6. กระจกลามิเนตสามารถนำคุณสมบัติเด่นของกระจกหลายชนิดมารวมกัน จนได้กระจกที่มีคุณสมบัติเด่นหลายอย่างในแผ่นเดียว

ลักษณะด้อย

  1. เมื่อเทียบที่ความหนาเดียวกันกระจกลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา
  2. ฟิล์มPVB มีคุณสมบัติการการดูดความชื้นดี ฟิล์มบริเวณที่ได้รับความชื้นจะมีการยึดเกาะกับกระจกไม่ดี ทำให้เกิดการแยกตัวของกระจกกับฟิล์มได้

การนำไปใช้งาน

เนื่องด้วยกระจกลามิเนตสามารถนำกระจกที่มีคุณสมบัติต่างๆกันมารวมอยู่ด้วยกัน จึงสามารถใช้กระจกลามิเนตได้เกือบทุกสถานที่ โดยนำกระจกวัตถุดิบที่เหมาะกับสถานที่มาใช้ในการผลิต แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้ค่ากระจกสูงมาก และในบางกรณีอาจหมายถึงกระจกที่หนากว่าปกติมาก ทำให้โครงสร้างที่ต้องรองรับน้ำหนักกระจกต้องแข็งแรงมากขึ้นด้วย ดังนั้นการเลือกใช้กระจกจึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน ทั้งด้านความปลอดภัย ความเหมาะสม รวมทั้งค่าใช้จ่ายหากใช้กระจกที่มีคุณสมบัติสูงเกินไป

ในกรณีที่ความปลอดภัยมีความสำคัญมาก การเลือกใช้กระจกลามิเนตจะมีความเหมาะสมมากที่สุด หากต้องการให้กระจกรับแรงกระแทกได้มากด้วยนอกเหนือจากความปลอดภัย ก็จำเป็นต้องใช้กระจกลามิเนตที่ใช้กระจกฮีทสเตรงค์เท่นหรือกระจกเทมเปอร์เป็นวัตถุดิบแทนที่จะใช้กระจกโฟลทเป็นวัตถุดิบ

ด้วยข้อกำหนดของกฎหมาย อาคารสูงเกิน 23 เมตรอาคารขนาดใหญ่(มีพื้นที่เกิน 2,000 ตารางเมตร หรือ สูงเกิน 15 เมตรและมีพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร) และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ(มีพื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตร) จะต้องใช้กระจกลามิเนตสำหรับผนังภายนอกอาคาร เพื่อเป็นการป้องกันการร่วงของกระจก หากมีการแตกเกิดขึ้น

ความหนา

ความหนาที่สามารถผลิตกระจกลามิเนต ได้ คือ ตั้งแต่ 6.38 - 80 มิลลิเมตร

ขนาดเล็กสุด

ขนาดเล็กสุดที่สามารถผลิตได้ คือ 250 X 620 มิลลิเมตร

ขนาดใหญ่สุด

ขนาดใหญ่สุดที่สามารถผลิตได้ คือ 2,800 X 6,000 มิลลิเมตร (ขึ้นอยู่กับขนาดกระจกวัตถุดิบที่มี)

* หมายเหตุ: กระจกลามิเนตที่ผลิตจากกระจกวัตถุดิบอื่นๆ นอกเหนือจากกระจกโฟลท จะมีข้อจำกัดบางอย่าง กรุณาสอบถามรายละเอียดก่อนสั่งผลิต

ข้อควรระวังในการใช้งาน

  • กระจกลามิเนตที่ใช้กระจกโฟลทเป็นวัตถุดิบ ต้องระวังการแตกจากความร้อน โดยเฉพาะกระจกโฟลทที่เป็นกระจกสะท้อนแสง หรือกระจก Low-e เพราะจะมีการสะสมความร้อนในเนื้อกระจก บริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการแตกด้วยความร้อน คือ บริเวณที่กระจกได้รับความร้อนไม่เท่ากัน (เช่น กระจกอยู่ในกรอบอลูมิเนียม กระจกที่มีชายคาหรือต้นไม้บังบางส่วน) หากภายในอาคารมีการติดตั้งตู้ชิดกระจก ทำให้ความร้อนไม่สามารถระบายออกจากกระจกได้ หรือแม้แต่การติดตั้งม่านบังแดดชิดกระจก ก็มีส่วนเสริมให้มีการแตกด้วยความร้อนเพิ่มมากขึ้น ในบริเวณที่มีโอกาสแตกด้วยความร้อน ควรเลือกใช้กระจกฮีทสเตรงค์เท่นหรือกระจกเทมเปอร์เป็นวัตถุดิบ
  • ในกรณีต้องการใช้กระจกลามิเนตเพื่อช่วยป้องกันการโจรกรรม ไม่ควรใช้กระจกเทมเปอร์เป็นวัตถุดิบ เพราะเมื่อกระจกเทมเปอร์แตก กระจกจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ทำให้สามารถกระแทกกระจกหลุดออกจากเฟลมได้ง่ายกว่าการใช้กระจกโฟลท หรือกระจกฮีทสเตรงค์เท่นเป็นวัตถุดิบ
  • ในกรณีใช้กระจกลามิเนตทำหลังคา ต้องตรวจสอบการรับแรงของกระจก และการแอ่นตัวของกระจกว่าใช้ได้หรือไม่ หลังคาที่ต้องการใช้กระจกแผ่นใหญ่ จำเป็นต้องใช้กระจกที่หนาขึ้น เพราะกระจกจะมีการแอ่นตัวมาก รวมทั้งต้องรับแรงมาก ซึ่งหมายถึงโครงสร้างรับกระจกต้องแข็งแรงเพียงพอด้วย จึงต้องมีการประสานงานระหว่างสถาปนิก วิศวกร และผู้ผลิต ในการเลือกใช้กระจกลามิเนตที่เหมาะสม
  • ในบริเวณที่ต้องใช้กระจกเทมเปอร์เป็นวัตถุดิบ และการเปลี่ยนกระจกเป็นเรื่องที่ยากหรือราคาสูง ควรเลือกใช้กระจกเทมเปอร์ฮีทโซคเป็นวัตถุดิบแทน
  • เนื่องจากกระจกลามิเนตมีการสัมผัสกันระหว่างกระจกและฟิล์ม การส่งผ่านความร้อนระหว่างวัสดุจึงเกิดขึ้นได้ การใช้กระจกลามิเนตป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะได้ผลน้อยกว่าการใช้กระจกอินซูเลท (กระจกที่มีช่องว่างระหว่างกระจก ภายในอาจเป็นอากาศแห้งหรือแก๊สเฉื่อย) แต่จะดีกว่าการใช้กระจกแผ่นเดียว หากต้องการใช้กระจกลามิเนต การใช้ฟิล์มกันความร้อนจะช่วยทำให้กันความร้อนได้มากขึ้น
  • กระจก Low-E เป็นกระจกที่มีการเคลือบสารซึ่งช่วยในลดการแผ่รังสีความร้อน ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติในการแผ่รังสีน้อยกว่ากระจกประเภทอื่นๆ กระจกชนิดนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่กับบรรยากาศภายนอกได้ เพราะสารที่เคลือบไวต่อความชื้น แต่ในปัจจุบันมีกระจก Low-E ที่สามารถใช้กับบรรยากาศภายนอกได้ สำหรับการใช้กระจก Low-E เป็นวัตถุดิบในการผลิต หากนำด้านที่เคลือบ Low-E เป็นด้านที่ชิดฟิล์ม คุณสมบัติลดการแผ่รังสีความร้อนของกระจก Low-E จะไม่ทำงาน เพราะคุณสมบัติดังกล่าวจะต้องการพื้นที่ว่างของด้านเคลือบสาร Low-E ในการแผ่รังสี การที่สารดังกล่าวชิดฟิล์ม ความร้อนจะผ่านเข้ามาด้วยกระบวนการนำความร้อน ทำให้การเคลือบสารเพื่อลดการแผ่รังสีความร้อนไม่มีประโยชน์ ดังนั้นการทำลามิเนตจึงควรให้ด้านเคลือบไม่ติดกับฟิล์ม ในกรณีใช้กระจก Low-E ที่ไวต่อความชื้น จำเป็นต้องใช้ร่วมกับกระจกอินซูเลท(กระจกสูญญากาศ) เพราะด้านเคลือบสารจะสัมผัสอากาศภายใน ทำให้สามารถลดการแผ่รังสีความร้อนได้ แต่ในกรณีของกระจก Low-E ที่ใช้กับบรรยากาศภายนอกได้ สามารถนำไปติดตั้งได้ทันที

การตรวจสอบว่ากระจกเป็นกระจกลามิเนต

การมองผ่านด้านเรียบของกระจกไม่สามารถแยกกระจกลามิเนตออกจากกระจกแผ่นเดียวได้ ต้องมองด้านสันเพื่อให้เห็นชั้นของฟิล์มที่ยึดกระจกแต่ละแผ่นเข้า