กระจกฮีทสเตรงค์เท่น

ลักษณะผลิตภัณฑ์

กระจกฮีทสเตรงค์เท่น (Heat-strengthened Glass) ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกเทมเปอร์ ใช้ความร้อนเท่ากัน แต่จะทำให้เย็นจะทำแบบช้าๆ เพื่อให้ความเครียดในเนื้อกระจกและผิวกระจกน้อยกว่าความเครียดในเนื้อและผิวกระจกเทมเปอร์ จึงมีความแข็งแรง และการทนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้อยกว่ากระจกเทมเปอร์ แต่กระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่มีข้อด้อยในเรื่องการแตกด้วยตัวเองเช่นเดียวกับกระจกเทมเปอร์ เพราะความเครียดที่เกิดในกระจกน้อยกว่ามาก และการแตกจะไม่เป็นเม็ด แต่จะแตกเป็นชิ้นใหญ่ รอยแตกจะวิ่งเข้าหาขอบกระจก และไม่มีรอยร้าวในเนื้อกระจกจำนวนมาก

เนื่องด้วยกระจกฮีทสเตรงค์เท่นสามารถทนแรงกดและแรงอัดได้ แม้จะน้อยกว่าการทนของกระจกเทมเปอร์ แต่ก็เพียงพอต่อการใช้อุปกรณ์จับยึดต่างๆ

ชนิดของกระจกที่สามารถผลิตเป็นกระจกฮีทสเตรงค์เท่นได้ เหมือนกับชนิดกระจกที่สามารถผลิตเป็นกระจกเทมเปอร์

ลักษณะเด่น

  1. กระจกฮีทสเตรงค์เท่นมีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 2 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ ได้ดี
  2. กระจกฮีทสเตรงค์เท่นทนความร้อนได้สูงถึง 290 ºC โดยกระจกไม่แตก
  3. กระจกฮีทสเตรงค์เท่นทนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ถึง 100 ºC
  4. กระจกฮีทสเตรงค์เท่นเมื่อกระจกแตก รอยร้าวแตกจะวิ่งเข้าหาขอบกระจก และรอยร้าวดังกล่าวจะมีจำนวนไม่มาก ทำให้กระจกยังเป็นชิ้นใหญ่ๆ ซึ่งใหญ่กว่าการแตกร้าวของกระจกธรรมดา
  5. กระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่แตกด้วยตัวเองแบบเดียวกับการแตกด้วยตัวเองของกระจกเทมเปอร์

ลักษณะด้อย

  1. กระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่สามารถตัด เจีย เจาะ บาก ได้
  2. เนื่องด้วยกระจกฮีทสเตรงค์เท่นเป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงขนาดที่กระจกนิ่ม จึงมีความระมัดระวังการเคลื่อนที่ของกระจกในเตาอบเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามกระจกก็ยังเป็นคลื่นและมีการโก่งตัวของกระจกเล็กน้อย หากต้องการความเรียบไม่มีคลื่นเลย เช่น กระจกเครื่องถ่ายเอกสาร ต้องใช้กระจกชนิดอื่น
  3. กระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่สามารถใช้ทดแทนกระจกเทมเปอร์ได้ เพราะการรับแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ น้อยกว่า และการที่กระจกฮีทสเตรงค์เท่นแตกเป็นชิ้นใหญ่ หากไม่มีกรอบรอบกระจกเมื่อแตกยังทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้

การนำไปใช้งาน

กระจกฮีทสเตรงค์เท่นสามารถรับแรงกระแทก แรงกด แรงอัด ได้ดีกว่ากระจกธรรมดา ดังนั้นในบางพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องรับแรงกระแทก แรงกด แรงอัด สูงมาก อาจเลือกใช้กระจกฮีทสเตรงค์เท่นแทนที่จะใช้กระจกเทมเปอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการแตกด้วยตัวเองของกระจกเทมเปอร์ แต่การเลือกใช้นั้นจำเป็นต้องทำการคำนวณให้ดีว่ากระจกฮีทสเตรงค์เท่นสามารถรับแรงได้จริง เพราะการรับแรงของกระจกฮีทสเตรงค์เท่นยังน้อยกว่ากระจกเทมเปอร์ถึงเท่าตัว และยังต้องคำนึงด้วยว่าหากกระจกแตกด้วยสาเหตุที่คาดไม่ถึง กระจกจะร่วงลงมาจนเกิดอันตรายอย่างรุนแรงหรือไม่

ความหนา

ความหนาที่สามารถผลิตกระจกฮีทสเตรงค์เท่น ได้ คือ 3, 4, 5, 6, 8, 10, 12 มิลลิเมตร

ขนาดเล็กสุด

ขนาดเล็กสุดที่สามารถผลิตได้ คือ 180 X 180 มิลลิเมตร

ขนาดใหญ่สุด

ขนาดใหญ่สุดที่สามารถผลิตได้ คือ 2,800 X 6,000 มิลลิเมตร

* หมายเหตุ: กระจกบางขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ กรุณาสอบถามขนาดก่อนสั่งผลิต

 

ข้อควรระวังในการใช้งาน

  • กระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่สามารถตัด เจาะ เจีย บาก ได้ หลังการผลิตเป็นกระจกฮีทสเตรงค์เท่น ดังนั้นการวัดพื้นที่ จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้หน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ การเผื่อหลวมจะช่วยให้การติดตั้งง่ายขึ้น แต่ต้องไม่หลวมจนกระจกหลุดจากคิ้ว
  • ไม่ควรใช้กระจกฮีทสเตรงค์เท่นเดี่ยวๆ เป็นหลังคา เพราะหากกระจกแตก กระจกจะร่วงลงมาโดนคนที่อยู่ข้างใต้ได้
  • ไม่ควรใช้กระจกฮีทสเตรงค์เท่นเดี่ยวๆ เป็นพื้นอาคาร เป็นพื้นสำหรับเดิน หรือเป็นขั้นบันได เพราะหากกระจกแตก ผู้เดินอยู่จะพลัดตกลงมาได้ รวมทั้งอาจเกิดอันตรายต่อผู้อยู่ด้านล่างเช่นกัน
  • การเลือกใช้กระจกฮีทสเตรงค์เท่นแทนกระจกเทมเปอร์ ต้องคำนวณการรับแรงให้ถี่ถ้วน รวมทั้งต้องคำนึงถึงการติดตั้งว่าจะเกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้หรือไม่
  • ห้ามใช้กระจกฮีทสเตรงค์เท่นทดแทนกระจกกันไฟ เพราะกระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่สามารถกันไฟเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อาศัย ตามข้อกำหนดของการกันไฟได้

การตรวจสอบว่ากระจกเป็นกระจกฮีทสเตรงค์เท่น

กระจกฮีทสเตรงค์เท่นมีปัญหาในการตรวจสอบเช่นเดียวกับกระจกเทมเปอร์ และสามารถใช้วิธีการตรวจสอบแบบเดียวกัน แต่ในกรณีทุบแตก กระจกฮีทสเตรงค์เท่นจะแตกโดยมีรอยร้าววิ่งเข้าหาขอบกระจก และไม่มีการแตกเป็นชิ้นเล็กๆบริเวณศูนย์กลางการแตก

การใช้ฟิล์มโพลาลอยด์ สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะฟิล์มโพลาลอยด์ทำให้เรามองเห็นเส้นแรงที่อยู่รอบกระจก ซึ่งเส้นแรงดังกล่าวมีทั้งในกระจกฮีทสเตรงค์เท่นและกระจกเทมเปอร์